ประวัติโรงพยาบาลชุมแสง

ประวัติโรงพยาบาลชุมแสง

        แต่เดิมอำเภอชุมแสงไม่มีสถานพยาบาล เมื่อชาวอำเภอชุมแสงเจ็บป่วยต้องลำบากเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งกว่าจะเดินทางถึงก็มีอาการทรุดหนักทำให้โอกาสหายจากการเจ็บป่วยมีน้อยมาก ต่อมาคุณอัมพร  ทรัพย์สมานและคุณหยวย  แซ่กัว ได้รับข่าวว่าทางมิชชันนารีจะมาก่อสร้างโรงพยาบาลที่อำเภอชุมแสง
         เมื่อได้รับข่าวมารดาของคุณอัมพรจะบริจาคที่ให้จำนวน 15 ไร่ เพื่อให้ก่อตั้งโรงพยาบาลแต่การก่อตั้งครั้งนี้ไม่สำเร็จเพราะทางมิชชันนารีต้องการก่อตั้งในที่เจริญน้อยกว่าอำเภอชุมแสง
          ต่อจากนั้นคุณอัมพรก็มิได้เพิกเฉยได้ชักชวน พ่อค้า ประชาชน จัดหาเงินสมทบทุนก่อสร้าง เมื่อได้เงินทุนแล้วคุณอัมพรได้พยายามติดต่อทางกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งโรงพยาบาลที่อำเภอชุมแสง โดยมารดาคุณอัมพรบริจาคที่ให้ 15 ไร่ แต่กระทรวงสาธารณสุขยังมิได้ตกลง
          ต่อมานายแพทย์วิโรจน์  คลอวุฒินันท์ บุตรชายของนายหยวย  แซ่กัว ได้เริ่มติดต่อกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง โดยได้ที่ดินบริเวณโรงเรียนชุมแสงชนูทิศเดิมเป็นสถานที่ก่อสร้างมีเนื้อที่ประมาณ    7 ไร่ 2 งาน อยู่ทางทิศใต้ ห่างจากตัวตลาดและสถานีรถไฟประมาณ 1.5 กม. เมื่อทางจังหวัดโดยนายแพทย์สุนทร ทองคง ได้มาดูสถานที่แล้วไม่ขัดข้อง จึงได้ดำเนินการติดต่อกระทรวงสาธารณสุขและมีพ่อค้า ประชาชนชาวชุมแสงได้บริจาคเงินสมทบอีกส่วนหนึ่งรวมกับเงินงบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขให้มาสมทบสร้างเป็น “ศูนย์การแพทย์และอนามัย”
           จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2519 ได้เปิดดำเนินการบริการด้านการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขชุมชนแก่ประชาชนในเขตอำเภอชุมแสงและอำเภอใกล้เคียง โดย เป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง

การขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง

              คณะกรรมการของอำเภอชุมแสง ได้พิจารณาเห็นว่าควรจะขยายโรงพยาบาลชุมแสงจาก 10 เตียง เป็น 30 เตียง เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนในอำเภอชุมแสงและอำเภอใกล้เคียงได้อย่างเพียงพอ จึงได้พิจารณาจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลชุมแสงแห่งใหม่ เนื่องจากสถานที่เดิมคับแคบไม่สามารถจะขยายได้ ต่อมาสภาตำบลเกยไชยได้อนุมัติให้ใช้สถานที่ที่สาธารณะประโยชน์คลองบ้านใหม่ หมู่ที่ 3 ตำบลเกยไชย จำนวน 30 ไร่ ซึ่งไม่มีผู้ถือกรรมสิทธิ์ครอบครองใช้ทำประโยชน์และเป็นที่เหมาะสมอยู่ใกล้กับถนนสายชุมแสง-นครสวรรค์ เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาลชุมแสง (สถานที่ตั้งปัจจุบัน) ดังนั้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2535 จึงได้เริ่มเปิดดำเนินการให้บริการเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง

การขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง

                     เนื่องจากโรงพยาบาลชุมแสงมีผู้มารับบริการเฉลี่ยวันละประมาณ 300 คน และมีผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลจำนวนมาก ทำให้จำนวนเตียงไม่เพียงพอต่อการให้บริการ บางครั้งต้องใช้เตียงผ้าใบเสริม พระครูนิวาสสันติธรรม เจ้าอาวาสวัดโพธิ์สุทธาวาส และพระครูนิรภัยประสิทธิ์ เจ้าคณะตำบลเกยไชย จึงมีความประสงค์ก่อสร้างตึกผู้ป่วยในเพิ่มอีก 1 หลัง ซึ่งจะสามารถรับผู้ป่วยเพิ่มอีกจำนวน 12 เตียง และห้องพิเศษเพิ่มอีก 10 ห้อง โดยประชาชนอำเภอชุมแสงและผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคก่อสร้างเป็นเงิน 7.5 ล้านบาท และได้ขอพระราชทานนามอาคารว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ” และเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2548 และต่อมาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2549 ได้ขอขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียงจากกระทรวงสาธารณสุข (โดยการพึ่งพาตนเอง) และการจัดตามลักษณะภูมิศาสตร์ GIS เป็นโรงพยาบาลขนาด 2.2 รับผิดชอบอำเภอชุมแสงและอำเภอหนองบัว และเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 ได้ยกฐานะเป็นโรงพยาบาลขนาด 90 เตียง จากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข